วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2561


สืบสาน ศิลปวัฒนธรรรมกลองบานอ





                นายสุดิน ดอเลาะ  อายุ 78 ปี
 เกิดวันที่ 1 เมษายน 2483
 ที่อยู่ 7/1 หมู่ที่ 3 ตำบลแม่ดง อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส
 วันลงพื้นที่ 13 พฤศจิกายน 2561


ปัจจุบันการทำกลองบานอคงเหลืออยู่ที่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาสเพียงแห่งเดียว โดยมีปราชญ์ชาวบ้านผู้ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นผู้เปี่ยมทักษะเชิงช่างในการสร้างกลองบานออย่างนายสุดิน ดอเลาะ และสมาชิกในชุมชน ยังคงเห็นถึงความสำคัญ สืบสาน การทำกลองบานออยู่ในอำเภอแว้งมาจนถึงทุกวันนี้ นายสุดิน ดอเลาะ เรียนรู้การทำกลองบานอจากบรรพบุรุษ และลงมือทำกลองบานอตั้งแต่อายุ 15 ปี คลุกคลีกับการทำกลอง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวมุสลิมในแถบสามจังหวัดชายแดนใต้มาอย่างต่อเนื่อง แม้การทำกลองบานอไม่ได้ประกอบเป็นอาชีพหลัก แต่ก็ไม่อาจทิ้งการทำกลองบานอด้วยเพราะมีใจรัก โตมากับวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกันโดยการใช้สัญญาณกลองเป็นสื่อกลางที่เห็นพ่อและแม่ทำอยู่ทุกวันเสียงกลองที่คุ้นหูทำให้ซึมซับท่วงทำนองแห่งความกังวานไพเราะอย่างไม่รู้ตัว จนเติบโตมาพร้อมกับความชำนาญและทักษะฝีมือการทำกลองที่หาใครทำเทียบเท่ายากยิ่งการทำกลองบานอเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ต้องใช้กระบวนการทำมือทุกขั้นตอน
ความยากและหัวใจสำคัญของการทำกลองบานอคือ การทำให้กลองทั้ง 7 ใบ มีเสียงเป็นเสียงเดียวกัน ที่ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลองบานอ เพราะด้วยประสบการณ์ที่อยู่กับการทำกลองมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ นายสุดิน ดอเลาะ เป็นผู้ที่มีความชำนาญเป็นพิเศษ สามารถที่จะฟังเสียงของกลองที่ดังกังวานพอเหมาะพอดีได้   เหมือน ๆ กันในกลองทุกตัว และในปัจจุบันได้เป็นถึงครูศิลป์ของแผ่นดินที่มีผู้คนยอมรับในฝีมือของท่าน



ลักษณะของกลองบานอ

  กลองบานอ เป็นกลองขึงหนังหน้าเดียว มีลักษณะคล้ายกลองรำมะนา แต่มีขนาดใหญ่และยาวเรียวเล็กน้อยไปทางด้านหน้า นิยมทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เหนียว ทนทาน และไม่แตกง่าย คือ “ไม้หลุมพอ” มีลักษณะรูปร่างทรงกระบอกกลม หัวท้ายไม่เท่ากัน ภายในตัวกลองกลวงตลอด ด้านหน้าจะโตกว่าด้านหลังเล็กน้อย หนังหุ้มหน้ากลองซึ่งเป็นหนังที่หนาและทนทาน นิยมใช้หนังควาย มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 45 เซนติเมตร ในส่วนด้านข้างกลองตรึงด้วยเชือกหรือหวายก็ได้ โดยใช้ลิ่มไม้จำนวน 13 อัน ตอกยึดหนังที่หุ้มให้ตึงที่สุด ในส่วนไม้ตีนั้น จะนิยมทำด้วยไม้แข็ง เช่น ไม้หลุมพอ ไม้ลองกอง เป็นต้น โดยมีลักษณะกลม ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร มีขนาดใช้มือกำได้พอดี ซึ่งด้านปลายที่ใช้ตีพันด้วยด้ายหรือยาง ให้เป็นปมหรือเหมือนไม้ตีฆ้อง และอีกด้านใช้เชือกผูกติดไว้ ทำเป็นบ่วงใช้คล้องมือ เป็นการป้องกันไม่ให้หลุดในขณะที่ตี นอกจากนี้ยังมีแผ่นหนังเป็นวงกลมขนาดเกือบเท่าหนังหุ้มหน้ากลอง นำมาใส่ไว้ภายในตัวกลองด้านท้าย ซึ่งเมื่อเวลาตีแล้วจะได้เกิดเสียงดังก้องกังวาน รูปแบบของกลองบานอทั้ง 7 ใบ จะมีขนาดและรูปแบบที่เหมือนกันทุก ๆ ใบ โดยเสียงของกลองบานอทุกใบจะต้องเป็นเสียงเดียวกัน ในส่วนฐานของบานอมีลักษณะคล้ายกับเรือกอและ ทำด้วยไม้ที่แข็งแรงและคงทน สามารถที่จะรองรับน้ำหนักของกลองบานอได้  ลักษณะการประโคมของกลองบานอจะมีผู้เล่นสองคนต่อกลองหนึ่งใบ ถ้ากลองเจ็ดใบจะมีผู้เล่นสิบสี่คน


ความสำคัญของกลองบานอ


1. ใช้เพื่อบรรเลงความรื่นเริง คลายความเหน็ดเหนื่อย จากการทำงาน ซึ่งจะบรรเลงควบคู่กันไป กับการละเล่นและการแสดง             เสมอ เพราะการละเล่นกลองบานอนั้น จะไม่นิยมบรรเลงล้วน ๆ 
เพื่อฟังโดยตรง แต่จะนิยมบรรเลงเพลงประกอบการแสดง

 2. ใช้บรรเลงเพื่อการสื่อสาร การบอกข่าว และการประโคมเสียง ซึ่งเป็นสัญญาณบอกข่าวว่ามีงานหรือกิจกรรมเกิดขึ้น เช่น งานแต่งหรืองานเข้าสุหนัต เพื่อให้ทุกคนในชุมชนได้รับรู้ และมาร่วมงาน
แสดง 

 3. ใช้เพื่อเสริมสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ เช่น การบรรเลงกลองบานอ โดยชาวบ้านจะช่วยกันสร้างดนตรีชนิดนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นเอกลักษณ์ประจำหมู่บ้านของตนและจะใช้ตีแข่งขันกับหมู่บ้านอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน และแสดงพลังความสามัคคี เพราะขณะที่มีการประกวดจะต้องช่วยกันทำ ถ้าหากแพ้ก็ถือว่าเป็นการปราชัยของคนทั้งหมู่บ้าน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของการแข่งขัน ในโอกาสต่อไปก็จะต้องช่วยกันทำใหม่ให้ดีกว่าเดิม 
                                                   





วัตถุประสงค์การทำกลองบานอ



            1.เพื่อความบันเทิง เล่นเพื่อความรื่นเริง คลายความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานของคนในชุมชน
             2.เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมของชุมชน
   ส่งเสริมให้ทุกคนเห็นคุณค่า ร่วมกันรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมโดยการปลุกจิตสำนึกให้คนในชุมชนตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญของศิลปวัฒนธรรม ส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมโดยมีวัฒนธรรมเข้ามามีส่วนร่วมสร้างจิตสำนึกของความเป็นคนในชุมชนนั้นๆ ที่จะต้องร่วมกันอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนรวมทั้งสนับสนุนให้มีแหล่งการเรียนรู้หรือพิพิธภัณฑ์ของชุมชนขึ้น เพื่อแสดงถึงสภาพชีวิตและความเป็นมาของชุมชน อีกทั้งยังสามารถที่จะสร้างความรู้และความภาคภูมิใจให้แก่ชุมชนอีกด้วย

 วัสดุอุปกรณ์
1.          หนังควาย
2.          ไม้หลุมพอ
3.          หวาย
4.          เชือกไนล่อน
5.          เลื่อย
6.          ขวาน
7.          พร้า
8.          ที่เหลาหวาย

ขั้นตอนการทำกลองบานอ
1.          ตากหนังควาย
2.          รีดหวาย
3.          เตรียมไม้
4.          ขึงหนังควาย
5.          ตกแต่งกลองบานอ
6.          กลองบานอที่เสร็จเรียบร้อย





ภาพประกอบที่ 1. ตากหนังควาย
ก่อนที่จะตากหนังควายต้องมีการแช่หนังควายหนึ่งวันหนึ่งคืน จากนั้นนำหนังควายขึ้นมาครอบบนหน้ากลองที่เป็นกลวง และนำไปตากประมาณ 2-3 วัน หลังจากที่หนังควายเริ่มแห้งแล้ว จึงนำออกจากครอบ แล้วนำไปตากใหม่อีกรอบ



ภาพประกอบที่ 2. รีดหวาย
เหลาหวายให้เรียบ เพื่อง่ายต่อการขึงหนังควายให้มีความแน่นตึง



ภาพประกอบที่ 3. เตรียมไม้
เป็นขั้นตอนการเตรียมไม้ ซึ่งนำไม้มาขัดและเหลาเพื่อให้ไม้มีผิวที่เรียบเนียน และเหลาจนไม้ส่วนกลางเป็นกลวง จึงนำไม้มาใช้ได้



ภาพประกอบที่ 4. ขึงหนังควาย
เมื่อได้หนังควายที่แห้งเรียบร้อยแล้ว นำหนังมาหุ้มหน้ากลอง ในส่วนด้านข้างกลองตรึงด้วยเชือกหรือหวาย โดยใช้ลิ่มไม้จำนวน 13 อัน ตอกยึดหนังที่หุ้มให้ตึงที่สุด



 ภาพประกอบที่ 5. ตกแต่งกลองบานอ
เมื่อประกอบชิ้นส่วนของกลองบานอเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการตกแต่งลวดลาย และการลงสี โดยลวดลายทีวาดลงบนหน้ากลองเราสามารถวาดได้ตามที่ชอบ ซึ่งกลองทั้ง 7 ใบ จะต้องเป็นลวดลายเดียวกัน และการลงสีจะต้องเป็นสีเดียวกันทั้ง 7 ใบ





ภาพประกอบที่ 6. กลองบานอที่เสร็จเรียบร้อย


ปัญหาและอุปสรรค


1. ปัญหาในการหาไม้หลุมพอ
ปัจจุบันการจัดหาไม้หลุมพอเป็นสิ่งที่หายาก เพราะก่อนที่จะนำไม้หลุมพอมาทำเป็นกลองบานอ ต้องมีการขออนุญาตกับเจ้าหน้าที่ทางกรมป่าไม้ แต่ถ้าหากว่าทางเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้นำไม้มาใช้ ก็ไม่สามารถที่จะนำมาทำกลองบานอได้
2. ความยากที่จะทำให้กลองบานอทั้ง 7 ใบ มีเสียงดังและเป็นเสียงเดียวกัน
ในการทำกลองบานอจำเป็นที่จะต้องทำให้เสียงของกลองมีเสียงที่ดังและเป็นเสียงเดียวกันทุกใบ เพราะถ้าเกิดว่ากลองใดกลองหนึ่งมีเสียงที่ไม่ดังและไม่เหมือนกับใบอื่นจะทำให้เสียงของกลองนั้นอาจจะเพี้ยนๆไป
3. การหาหนังควาย
การหาหนังควายถือว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคเหมือนกัน เพราะในพื้นที่หมู่บ้านยะหอ และพื้นที่ใกล้เคียงไม่มีคนเลี้ยงควาย จึงจำเป็นต้องไปหาจากพื้นที่ที่มีผู้คนเลี้ยงควาย เช่น แถวอำเภอตากใบ และอำเภอตันหยงมัส ซึ่งแต่ละพื้นที่ที่ไปหาใช่ว่าจะมีได้ตามที่เราต้องการ เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้เวลาในการที่จะทำบานอขึ้นมาแต่ละใบ
4. ปัญหาในการทำกลองบานอ
หนังที่ใช้ต้องเป็นหนังควายเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าหากหนังควายไม่แห้งก็ไม่สามารถที่จะนำมาประกบที่หน้ากลองหรือเจาะรูรอบ ๆหน้ากลองได้ เพราะมันจะทำให้หนังขาดและจะไม่ทนเป็นปี ๆ ทั้งยังทำให้เสียง่าย

 สรุป

การทำรายงานในครั้งนี้กลุ่มของข้าพเจ้าได้ศึกษาเกี่ยวกับการสืบสานศิลปวัฒนธรรมกลองบานอ เพื่อที่จะเผยแพร่เอกลักษณ์ การละเล่นพื้นบ้านของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และต้องการที่จะส่งเสริมให้เยาวชนได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของศิลปวัฒนธรรม โดยกลองบานอมีคุณค่าต่อคนในชุมชนเป็นอย่างมาก เพราะทำให้คนในพื้นที่หรือเยาวชนเกิดความสามัคคี ความคิดสร้างสรรค์ในการทำกลองบานอ และยังใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้คนหันมาสนใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ในชุมชน อีกทั้งยังมีการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของชาวบ้านให้มีโอกาสแสดงศักยภาพทางด้านภูมิปัญญา ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ มีการยกย่องประกาศเกียรติคุณลักษณะต่างๆไม่ว่าจะเป็นงานด้านฝีมือหรือด้านความคิดของคนในชุมชนให้เป็นที่ยอมรับ การศึกษาข้อมูลในครั้งนี้กลุ่มข้าพเจ้ามีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมเหล่านี้ต่อไปยังรุ่นสู่รุ่น






















บรรณานุกรม
ไซฟูดิง  อาแด  ที่อยู่ 7/1 หมู่ที่3 ตำบลแม่ดง อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส
ดนตรีพื้นเมืองภาคใต้ (วัฒนธรรมไทยมุสลิม) . ประเภทเครื่องตี. สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2561.
จาก:http://staffzone.amnuaysilpa.ac.th/2.7Muslim_%20instrument.htm?
ประเพณี และวัฒนธรรมไทย.วิธีร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย. สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2561. จาก:
https://sites.google.com/site/social071/bth-thi2/hawkhx-yxy2-1?
มุสลีฮีน บินและ ที่อยู่ 3/7 หมู่ที่3 ตำบลแม่ดง อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส
ลำไย ไชยสาลี. (2542). การศึกษาเครื่องดนตรีพื้นบ้านภาคใต้. สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2561.
จาก:https://l.facebook.com/l.php?u=http%3A%2F%2Fkb.tsu.ac.th%2Fjspui%2Fbitstream%2F123456789%2F2248%2F1%2Fลำไย%2520ไชยสาลี.
วัฒนธรรมภาคใต้. เครื่องดนตรีพื้นบ้านของภาคใต้. สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2561.
จาก:https://sites.google.com/site/wathnthrrmphakhti2/kheruxng-dntri-
ศิลปวัฒนธรรมไทยและภูมปัญญาชาวบ้าน.(2554). แนวคิดในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย. สืบค้นเมื่อ 27
พฤศจิกายน 2561. จาก:https://phoompanya.blogspot.com/2012/01/blog-post_780.
สุดิน ดอเลาะ อายุ78 ที่อยู่ 7/1 หมู่ที่3 ตำบลแม่ดง อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส (ผู้ให้สัมภาษณ์)
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. ดนตรีพื้นบ้านภาคใต้. สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2561.
จาก:http://kanchanapisek.or.th/kp8/thai/link2_2south.htm?fbclid=IwAR
OK NATION BLOG. (2553). เครื่องดนตรีที่เรียกว่า (บานอ). สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2561.
จากhttp://oknation.nationtv.tv/blog/nahsukaew/2010/05/26/entry-5?



 





3 ความคิดเห็น:

  1. เพิ่มความรู้เรื่องกลองบานอได้เยอะเลยทีเดียวค่ะ 👍👍

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณคะ ที่เข้ามาชมบล็อกเรา

    ตอบลบ

สืบสาน ศิลปวัฒนธรรรมกลองบานอ                 นายสุดิน ดอเลาะ  อายุ  78  ปี  เกิดวันที่  1  เมษายน  2483  ที่อยู่  7/1  หมู่ที...